ทำความรู้จักกับ เครื่องควบคุมความปวดด้วยตนเอง (PCA)
เครื่องควบคุมการให้ยาระงับปวดด้วยตนเอง หรือ Patient Controlled Analgesia (PCA) เป็นอุปกรณ์อัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อให้ยาระงับปวดตามความต้องการของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยสามารถควบคุมการให้ยาระงับปวดได้ด้วยตนเอง เพื่อให้มีการจ่ายยาแก้ปวดผ่านเครื่องมือเข้าสู่ตัวผู้ป่วยทางน้ำเกลือ โดยได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยให้ยาระงับปวดเข้าทางหลอดเลือดดำทางบริเวณแขน
** ในระหว่างที่ท่านได้รับการระงับปวดด้วยวิธีนี้ จะมีทีมแพทย์และพยาบาลคอยติดตามดูแลต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์ของเครื่องควบคุมการให้ยาระงับปวดด้วยตนเอง ( PCA)
• เพื่อให้ยาระงับความปวดหลังผ่าตัด ใหญ่ การผ่าตัดในช่องท้องหรือในผู้ป่วยที่มีความปวดเรื้อรัง
• ให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมการให้ยาระงับปวดได้ด้วยตนเอง
• ช่วยลดอาการปวด ลดอาการข้างเคียงจากความปวด และความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
ข้อดีของการใช้
• สามารถกดยาแก้ปวดได้ทันทีเมื่อมีอาการปวด โดยไม่ต้องรอการเตรียมยาจากเจ้าหน้าที่
• การให้ยาแก้ปวดเหมาะสมกับความต้องการของคนไข้
• ผู้ป่วยสามารถเพิ่มขนาดยาได้ด้วยตนเองก่อนทำกิจกรรมที่อาจจะเพิ่มความปวดได้ เช่น การทำกายภาพบำบัด การเคลื่อนไหวร่างกาย
การใช้งานเครื่องควบคุมการให้ยาระงับปวดด้วยตนเอง (PCA)
• แพทย์เป็นผู้เลือกชนิดของยาระงับปวดและตั้งค่าของเครื่องเครื่องควบคุมความปวดด้วยตนเอง PCA
• ผู้ป่วยสามารถระงับความปวดได้ด้วยตนเอง โดยเป็นผู้กดปุ่มปล่อยยาให้ตัวเอง จากเครื่องที่แพทย์เป็นผู้ตั้งเครื่องกำหนดขนาดยาให้ไว้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มปวดก็กดปุ่ม ไม่ปวดไม่ต้องกด หลังจากกดปุ่มจ่ายยาจะมีเสียงสัญญาณดังขึ้น เพื่อแสดงว่ามีการไหลของยาระงับปวดผ่านระบบเครื่อง รอระยะเวลาออกฤทธิ์ของยาประมาณ 2-3 นาที สามารถกดปุ่มจ่ายยาซ้ำได้ ถ้าอาการปวดยังไม่บรรเทา แต่ถ้ารู้สึกว่ากดหลายครั้งแล้วยังไม่หายปวด ให้แจ้งพยาบาล
• ข้อสำคัญคือ ห้ามให้ผู้อื่นกดปุ่มให้ เพราะตัวท่านเองเท่านั้นที่จะทราบว่าท่านต้องการยาหรือไม่
อาการข้างเคียงที่อาจพบ : เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน คันตามตัว หรือ ปัสสาวะออก
** ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้
ความปลอดภัยของเครื่องมือ
• มีระบบควบคุมที่จะไม่ให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาด ได้แก่ การจำกัดระยะเวลาที่ให้ยาและปริมาณยา
• มีผู้ป่วยเท่านั้นที่จะเป็นผู้กดปุ่มจ่ายยา
• ผู้ป่วยสามารถกดปุ่มจ่ายยาได้ตามความต้องการ จึงหยุดกดปุ่มจ่ายยาได้ เมื่อไม่มีอาการปวด
เหมาะสำหรับการผ่าตัด
ศัลยกรรมทั่วไป
- ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
- ผ่าตัดเต้านม
- ผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม (Excision)
- การผ่าตัดเต้านมทั้งหมด และต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (MRM - Modified radical mastectomy)
- ผ่าตัดลำไส้
- การผ่าตัดลำไส้ส่วนปลาย (Hemicolectomy)
- การผ่าตัดปิดทวารเทียมที่ผนังหน้าท้อง ( Colostomy)
- ผ่าไต (Nephrectomy)
- ผ่าปอดแบบลิ่ม ( Wedge resection)
ศัลยกรรมกระดูก
- ผ่าตัดแขน
- ผ่าตัดกระดูกสันหลัง
หู คอ จมูก
- ผ่าตัดไทรอยด์
- ผ่าตัดต่อมน้ำลายหน้าหู (Parotidectomy)
ศัลยกรรมพลาสติก
- ผ่าตัดจมูก (Nasal fracture) สำหรับผู้ที่จมูกหัก จากอุบัติเหตุ และจมูกเสียรูป ยุบหรือคดเอียง
ศัลยกรรมนรีเวชกรรม
- การผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมดผ่านทางหน้าท้อง (TAH)
- การผ่าตัดเนื้องอกรังไข่ (Ovarin Tumor)